มีคนพยายามเอา “นายก ส.มวยอาชีพ” ออกจากบอร์ดมวย

นายสมชาติ เจริญวัชรวิทย์ นายกสมาคมกีฬามวยอาชีพแห่งประเทศไทย

จากคอลัมน์ “กฎหมายมวย” ยาสามัญประจำคนมวย ของ “ทนายมวย” สุกฤษฏิ์ แพรกรีฑาเวศน์ ในมวยสยาม ฉบับวันที่ 23 ม.ค.64 ซึ่งมีวรรคหนึ่งระบุถึงมีคนพยายามแก้ให้ตำแหน่งนายกสมาคมกีฬามวยอาชีพแห่งประเทศไทยออกจากกรรมการบอร์ดมวย ตามพรบ.กีฬามวย 42 ซึ่งมีที่มาอย่างไร ลองไปอ่านกันตั้งแต่ต้นจนจบ จะได้ทราบอย่างละเอียด

คอลัมน์ ทนายสุกฤษฏิ์
เขย่าขวดก่อนใช้ (ตอนที่ 1)

ช่วงมวยหยุดโควิดรอบ 2 ยาว มีคนโทรหาผมว่า ทนายในฐานะเป็นฝ่ายกฎหมายของสมาคมกีฬามวยอาชีพแห่งประเทศไทย ตอนนี้ไม่มีโปรแกรมการชกและข่าวสารวงการมวย

เลย อยากให้ผมช่วยเขียนเรื่องกฎหมายมวย เพราะคนมวยหลายท่านไม่สามารถหาอ่านได้ และอยากได้ความรู้ ขอให้สรุปผลได้เสียของกฎหมายมวยด้วย ผมเห็นดีงามด้วยจึงจัดให้ทันทีครับ แต่จะเขียนแบบ กฎหมายชาวบ้าน อ่านเข้าใจง่าย ไม่ต้องแปลไทยเป็นไทยอีก

ทำไมต้องมีกฎหมายมวย เหตุใดทำไมต้องมี พ.ร.บ.กีฬามวย ฉบับปี 2542 ต้องย้อนไปถึงก่อนปีประกาศใช้นั้น ปัญหาเรื่องการว่าจ้างล้มมวย เป็นปัญหาใหญ่ รองมาเรื่องนักมวยเดินสายชก ไม่พักผ่อนอาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย และพอเริ่มดังก็ย้ายค่ายจากไป และเกิดจากหัวหน้าค่ายที่แบ่งเงินรางวัลค่าตัวนักมวยไม่เป็นธรรม ปัญหาเรื่องการตัดสินของกรรมการค้านสายตา มันเป็นปัญหาที่เกิดกว่า 50 ปีและต้องการคนสะสาง ตอนนั้นการชกมวยอยู่ในความรับผิดชอบของกรมพละศึกษา ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการซึ่งได้ควบคุมโดยร่างระเบียบข้องบังคับ กติกาใช้ แต่ก็ไม่มีบทกฎหมายลงโทษคนว่าจ้างและนักมวยที่ทรยศต่อวิชาชีพล้มมวยได้ ฟ้องศาลไปก็เอาโทษไม่ได้เพราะไม่มีกฎหมายอาญาบัญญัติให้เอาโทษในเรื่องนี้ได้ และเคยมีเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนใช้กำหมายมวย ถึงโรงศาลเป็นคดีเมื่อ เฮียน้อย ลูกพระบาท ซึ่งเสียชีวิตแล้ว นำนักมวยในสังกัดไปชกที่สนามมวยนารายณ์ จังหวัดลพบุรี อยู่ในค่ายทหารมวย วันนั้นมีการเดิมพันด้วย ปรากฎว่าชกเสร็จกรรมการได้ชูมวยให้ฝ่ายลูกพระบาทชนะ ด้วยคะแนนกรรมการ 2 ต่อ 1 เสียง แต่มีการประท้วงเกิดขึ้น จนนายสนามประกาศให้เสมอกันไป เฮียน้อยจึงนำเรื่องไปฟ้องที่ศาลจังหวัดลพบุรี ที่สุดศาลตัดสินว่าในเมื่อเคยมีระเบียบกติกาให้ฝ่ายเสียงข้างมากชนะแล้ว ก็ต้องเป็นไปตามนั้น แต่เงินเดิมพันที่เฮียน้อยขอให้ศาลสั่งให้อีกฝ่ายหนึ่งจ่ายเงินเดิมพันให้นั้น เพราะเป็นหนี้การพนัน มัหาก่อให้เกิดหนี้ไม่ ตามกฎหมายบัญญัติไว้

พรบ.กีฬามวย 2542

เมื่อปัญหาของวงการมวยในยุคก่อนรุมเร้า นายสมชาติ เจริญวัชรวิทย์ นายกสมาคมกีฬามวยอาชีพแห่งประเทศไทย เห็นช่องว่างตรงนี้จึงได้ยกมือประสานสิบทิศทิศ ให้มีการร่าง พ.ร.บ.กีฬามวย เพื่อให้ใช้บังคับ และสามารถมีบทลงโทษทางอาญาต่อผู้กระทำความผิดได้ จึงได้ผลักดันเสนอให้ ส.ส. ในขณะนั้น ซึ่งมี ฯพณฯ นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ตรงนี้ต้องให้เครดิตกับพรรคประชาธิปัตย์ เสนอต่อคณะรัฐมนตรี รีบนำร่างฉบับนี้เข้าสภา จนในที่สุด ที่ประชุมรัฐสภาก็ลงมติเอกฉันท์ให้ใช้ พ.ร.บ.กีฬามวย พ.ศ.2542 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2542 รวมปัจจุบันคนมวยอยู่คู่กฎหมายมวยมาแล้ว 22 ปีแล้ว

ด้วยต้องเร่งรีบให้ทันต่อสมัยของรัฐบาลในขณะนั้น ขืนช้าอาจไม่ออกใช้ เมื่อมีรัฐบาลอื่นมาแทน การร่างจึงระดมสมองคนมวยในสมัยนั้นช่วยกันออกแบบ ซึ่งผมก็เป็นคนหนึ่งที่มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นครั้งนั้นด้วยและเอาเฉพาะประเด็นหลักๆ ที่มีปัญหาร่างขึ้นก่อน จึงทำให้ พ.ร.บ.มวยมีเพียงแค่ 63 มาตราเท่านั้น (ปัจจุบันยกเลิก ม.52 เรื่องกองทุนกีฬามวย เพราะภายหลังมี พ.ร.บ. กองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติแทน) กฎหมายมวยสั้น ๆ บางเฉียบ คนเห็นบอกว่ามันจะคลอบคลุมทุกเรื่องในการใช้รักษาโรคเรื้อรังของคนมวยได้ไหม ผมว่า พ.ร.บ.มวยฉบับนี้ จิ๋วแต่แจ๋วจริง เพราะตาม ม.9 (5) ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ในการออกข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศเพื่อปฏิบัติเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตามพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งต่อมาก็มีการออกโดยใช้พระราชกฤษฎีกา 2 ฉบับ กฎกระทรวง 6 ฉบับ ข้อบังคับ 1 ฉบับ และระเบียบอื่น ๆ อีก 18 ฉบับ รวมแล้ว 25 เรื่อง ออกมาเพื่อให้บุคคลในวงการมวยปฏิบัติ เช่น เรื่องความปลอดภัยนักมวย ให้พักร่างกายหลังชก 21 วัน ถ้าน็อกเขา พัก 14 หรือถูกน็อกพัก 1 เดือน ระเบียบว่าด้วยการสังกัดค่าย และย้ายค่าย นักมวย ตรงนี้มาดังตอนที่บัวขาว ย้ายค่ายจาก ป.ประมุข มาใช้สังกัดค่ายนบัญชาเมฆ โดยเจ้าของค่ายกำนันประมุข ไม่ยอม ในที่สุดมันทำไม่ได้ หรือเรื่องการออกระเบียบคุณสมบัติของผู้ตัดสิน และกติกาสำหรับการแข่งขันกีฬามวย ปี 2545 มันสามารถออกเป็นระเบียบให้ทันยุคสมัยได้ ถามผมว่าครอบคุลมไหม ผมว่าภาพรวมใช้บังคับได้ทุกอย่าง แต่ก็ติดขัดที่ไม่ได้ถูกนำมาใช้ เปรียบเสมือนยาดี แต่ไม่มีการหยิบมาใช้ หรือเขย่าขวดก่อนใช้ จึงเป็นหมันไป และสำคัญมีคนอุตริคิดไปนำเสนอให้แก้กฎหมายมวยทั้งฉบับ ดังที่เคยมีตัวอย่าง เช่น ร่างแก้ไข พ.ร.บ. มวย ปี 2561 ฉบับของ สำนักงานกีฬามวย และของ สนช. ปี 2562 ทั้ง 2 ฉบับนี้ดันไปแก้ไขเรื่องมวยเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ชกเด็ดขาด และให้อายุต่ำกว่า 15 ปี ชกต้องสวมเครื่องป้องกัน ผมต้องไปต่อสู้รวมคนมวยไปคัดค้านว่าไม่ได้ทำพิจารณ์ ตาม รัฐธรรมนูญ ม.77 จนกระทั่ง ร่างทั้งสองฉบับถูกตีตกไปแล้ว ขอทีเถิดใครที่โลกสวยคิดแก้ ก.ม.มวยทั้งฉบับ ทางออกมันมีอยู่แล้วที่เราเคยปฏิบัติอยู่ คือใช้ พ.ร.บ.มวย ม.9 (5) แทน

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมต.การท่องเที่ยวและกีฬา คนปัจจุบัน

สาระสำคัญของกฎหมายมวยมีอะไรบ้าง เริ่มตั้งแต่มาตรา 3 ให้ความหมายคำจำกัดความไว้หลายเรื่อง แต่ที่สำคัญก็คือ “บุคคลในวงการมวย” หมายความว่า นักมวย ผู้ฝึกสอน ผู้ตัดสิน ผู้จัดการนักมวย หัวหน้าค่ายมวย นายสนามมวย ผู้จัดรายการแข่งขันมวย” จะเห็นว่า มีเพียง 7 ประเภท (เซียนมวย ไม่เกี่ยวข้องด้วย ) ที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายมวย มิฉะนั้นจะถูกลงโทษ และตาม ม.12 มีสิทธิได้รับทุนสวัสดิการ คือ นักมวย ผู้ฝึกสอน ผู้ตัดสิน หัวหน้าค่ายมวย 4 ประเภท อันเป็นเงิน.ที่ให้เมื่อประสบอุบัติเหตุ หรือเจ็บป่วยอันเกิดจากการแข่งขัน หรือเงินสงเคราะห์ อื่นๆ ตรงนี้ที่เขาได้รับเงินไป 17.5 ล้าน จ่ายเป็นสงเคราะห์ให้แล้วเพราะโควิดพ่นพิษ โอยอนุมัติจากบอร์ดมวย ทั้งนี้ ม.3 ยังให้ความหมายถึง “นายทะเบียน” ทว่าจะต้องดูแล พ.ร.บ.มวยนี้ คือ ผู้อำนวยการสำนักงานกีฬามวย หรือที่ ผ.อ.มวยมอบหมาย ตรงนี้ให้ดาบถือไว้แล้วครับ จาก “คณะกรรมการกีฬามวย” (บอร์ดมวย) ตาม ม.5 ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธาน โดยมีกรรมการอื่นจากผู้แทนหน่วยงานต่างๆ อีก 8 คน รวมทั้ง นายกสมาคมกีฬามวยอาชีพแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการโดยตำแหน่งอีกด้วย และบอร์ดมวยแต่งตั้งผู้ทรงวุฒิได้อีก 7 คน อยู่ได้ 2 ปีพร้อมกับให้ ผอ.มวยเป็นเลขา สิริรวมทั้งหมดมีทั้งสิ้น 17 คน โดยปกติก็จะประชุมกัน 3 เดือนต่อครั้ง

ตอนนี้มีคนพยายามแก้ให้ตำแหน่งนายกสมาคมกีฬามวยอาชีพ ออกจาก

กรรมการบอร์ดมวยตาม พ.ร.บ. ออก แล้วให้ไปถูกเลือกในฐานะ ผู้ทรงคุณวุฒิ แทน คิดได้ยังไง

สำหรับเสนอร่างกฎหมายมวยด้วยมือ ต่อสู้เพื่อคนมวยมากว่า 40 ปีแล้ว เข้าทางสุภาษิต “เสร็จนาฆ่าโคถึง เสร็จศึกฆ่าขุนพล”

มวยสยาม

บอร์ดมวย มีหน้าที่ควบคุม และเพื่อกำหนดในการประชุมให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายมวยนี้ แต่สำหรับหน่วยงานและผู้ดูแลนั้น ม.17 ให้จัดตั้งหน่วยงานขึ้นเรียกว่า “สำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย (สคม.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ทั้งนี้ให้ผู้ว่า กกท. แต่งตั้งพนักงานของตน ระดับไม่ต่ำกว่า ผู้อำนวยการกอง ถ้าทางระดับคือ ซี 8 เพื่อเป็นผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมบอร์ดมวยก่อน ตาม ม.18 ผอ.มวยต้องมีดีกรี ข้าราชการ ระดับ ซี 8 ตอนที่ ผอ.ประเสริฐ ตันมี เกษียนราชการ ก็มีคุณปรเมษฐ์ ภักดีคิรีไพวัลย์ ผอ.มวยคนปัจจุบัน ในขณะนั้นเป็นแค่รอง ผอ. ซึ่งมีระดับแค่ ซี 7 เป็นผอ.ไม่ได้ ก็มีการขัดตาทัพ โยกย้ายนายวิบูณ จำปาเงิน จากตำแหน่งผู้อำนวยการกองส่งเสริมพัฒนากีฬาอาชีพ (ซี 8) มาเป็นผอ.มวยแทน ผอ.ประเสริฐ ฯ แล้วให้ ผอ. ปรเมษฐ์ ไปแทน ผอ.วิบูณ เพื่อรับตำแหน่ง ซี 8 แต่โชคร้ายมาตกกับ ผอ.วิบูณ ที่เผชิญ วิกฤต ช่วงโควิด โดยเฉพาะเคสของสนามมวยลุมพินีที่ถูกทัวร์ลงว่าเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคโควิดรอบแรก งานเลยเข้า กว่าจะฝ่าฟันฝ่าอุปสรรคนี้ไป รอถึงวันที่ 1 ต.ค. 63 จึงมีการโยกให้ ผอ.ปรเมษฐ์ ซึ่งมีคุณสมบัติครบมาเป็น ผอ.มวยคนใหม่แทน ส่วน ผอ.วิบูณ ก็ไปรับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล คือย้ายจากผู้อำนวยการระดับกอง (ซี8) มาเป็นระดับฝ่าย (ซี9) สูงกว่าเดิม งานนี้ แฮปปี้ เอ็นดิ้ง ถ้วนทั่วหน้ากัน

ปรเมษฐ์ ภักดีคีรีไพรวัลย์ ผอ.มวยคนปัจจุบัน

ที่ต้องกล่าวถึงความสำคัญของ ผอ.มวย ตรงนี้ เพราะตำแหน่งนี่แหละจะเป็นผู้ทำหน้าที่รักษาความศักดิ์สิทธ์ของ กฎหมายมวย ให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างไร จึงเป็นที่มาของผมว่า โปรด ! เขย่าขวดก่อนใช้ … (ติดตามตอนต่อไป)

มวยสยาม