เมื่อช่วงบ่าย วันที่ 6 ธันวาคม 2565 ที่ห้องประชุมชั้น 8 การกีฬาแห่งประเทศไทย “ชาติซ้าย” นายสมชาติ เจริญวัชรวิทย์ นายกสมาคมกีฬามวยอาชีพแห่งประเทศไทย จัดประชุม “2 คณะ” โดยคณะแรก พิจารณาคัดเลือกนักมวยไทยอาชีพดีเด่น (ชาย-หญิง) วันกีฬาแห่งชาติ ประจำปี 2565 , คณะที่สอง ชุดกรรมการบริหารสมาคมฯปี 2564 – 2568 วาระ 4 ปี
สำหรับคณะทำงานคัดลือกนักกีฬามวยไทยอาชีพดีเด่น มี นายสมชาติ เจริญวัชรวิทย์ เป็นประธาน , กรรมการ 5 คน ประกอบด้วย นายพิเชษฐ์ เรือนอินทร์ , นายภพธร รุ่งสมัย , นายพินิจ พลขันธ์ , นายพรชัย อุดมสมพร และ นายภูมิหทัย ไม้แก้ว
โดยมีนักมวยผ่านรอบแรก จากการพิจารณาผลงานการชกมวยไทย 5 ยก ตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2564 ถึง 10 ธันวาคม 2565 ซึ่งนักมวยชายมี 10 คนได้แก่ รณชัย ต.รามอินทรา , เสาเอก อ.อัจฉริยะ , ยอดเหล็กเพชร อ.อัจฉริยะ , ฟลุ้คน้อย ฟลุ้คบะหมี่เกี๊ยว , แบทแมน อ.อัจฉริยะ , ช่อฟ้า ท.แสงเทียนน้อย , ธงน้อย ลูกบ้านใหญ่ , เพชรสุขุมวิท บอยบางนา , เพชรบ้านไร่ สิงห์มาวิน และ ฉลามดำ นายกเอท่าศาลา ส่วนนักมวยหญิง มี 5 คน ได้แก่ รุ่งนภา พ.เมืองเพชร , การะเกด พ.เมืองเพชร , มงกุฏเพชร แตวเมืองลุง , แสนงาม กำนันเชษฐ์เมืองชล และ กำไลเพชร พ.เพลินจิต โดยที่ประชุมมีการถกประเด็นนักมวยที่ชกต่างประเทศแบบไม่ได้ขออนุญาตจะถูกตัดสิทธิ์ออก และพิจารณาด้านอื่นนอกจากสถิติด้วย เช่น ความประพฤติ ชื่อชั้นบารมีเกรดมวย การผ่านมวย และคู่ชก โดยช่วงตัดสินมวยชาย มีการลงคะแนนลับ ปรากฏว่ามีมติเป็นเอกฉันท์ 6 เสียง ให้ รณชัย (สถิติ ชก 6 , ชนะ 5 แพ้ 1)ได้รับการพิจารณาเสนอชื่อเป็นนักมวยชายดีเด่น ส่วนมวยหญิงมีการโหวตและมติเป็นเอกฉันท์ 6 เสียง ให้ รุ่งนภา (สถิติ 9 , ชนะ 8 , เสมอ 1) เป็นนักมวยหญิงดีเด่น ทั้งนี้นักมวยทั้ง 2 คน ต้องได้รับการรับรองจากคณะกรรมการพิจารณารางวัล(บอร์ดใหญ่)อีกครั้ง ซึ่งจะมีการประชุมครั้งต่อไป วันที่ 8 ธันวาคม 2565
ขณะที่การประชุมเปิดตัวกรรมการบริหารสมาคมฯชุดใหม่ เน้นคนรุ่นใหม่ไฟแรง ทำงานทันเหตุการณ์ ในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มั่นใจดูแลทั่วถึงรอบด้าน โดยมุ่งเน้นส่งเสริมอนุรักษ์มวยหญิงให้ชกกติกามวยไทย 5 ยก และผลักดันการขออนุญาตชกมวยในต่างประเทศให้มีความศักดิ์สิทธิ์กว่าเดิม
ตามที่ “ชาติซ้าย” นายสมชาติ เจริญวัชรวิทย์ ได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกสมาคมกีฬามวยอาชีพแห่งประเทศไทย(สมัยที่ 16) เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งมีวาระการบริหารงาน 4 ปี จนถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2568 ซึ่งหลังจากสถานการณ์โควิด -19 ดีขึ้น จึงได้กำหนดการแถลงข่าวเปิดตัวคณะกรรมการบริหารสมาคมฯชุดใหม่ และวิสัยทัศน์การทำงาน ซึ่งเป็นช่วงที่วงการมวยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วหลายอย่าง เช่น มีการแข่งขันมากขึ้น เกิดกติกาใหม่ๆในการตัดสิน มุ่งเน้นไปที่มวย 3 ยก ซึ่งอาจทำให้มวยไทย 5 ยกเต็มรูปแบบสูญหายไป
“ชาติซ้าย” เผยว่า “กรรมการบริหารสมาคมฯชุดนี่ เน้นคนรุ่นใหม่ไฟแรง เพื่อทำงานทันเหตุการณ์ ในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน มั่นใจดูแลทั่วถึงรอบด้าน โดยจะส่งกรรมการสมาคมฯเป็นคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ ร่วมทำงานกับการกีฬาแห่งประเทศไทย ทั้ง 5 ด้าน คือ มาตรฐานผู้ฝึกสอนกีฬามวยไทย , มาตรฐานการตัดสินกีฬามวยไทย , มาตรฐานการจัดการค่ายมวยไทย , มาตรฐานการจัดการแข่งขัน และ มาตรฐานการเรียนการสอนกีฬามวยไทย นอกจากนี้จะมุ่งเน้นส่งเสริมอนุรักษ์มวยหญิงให้ชกกติกามวยไทย 5 ยก และผลักดันการขออนุญาตชกมวยในต่างประเทศให้มีความศักดิ์สิทธิ์กว่าเดิม
ด้าน นายนริส สิงหวังชา อีกบทบาทหนึ่ง ในฐานะประธานกองทุนสิงหวังชาเพื่ออดีตนักมวยเก่า ยังให้ความอนุเคราะห์เงินเบี้ยเลี้ยงนักมวยเก่า ผ่านสมาคมกีฬามวยอาชีพฯ จำนวน 58 คนๆละ 1,500 บาท ต่ออีก 1 ปี (ของปี 2566) หลังจากปี 2565 มีผู้ร่วมโครงการ 60 คน โดยเสียชีวิตไป 2 คน
สำหรับรายชื่อกรรมการสมาคมฯประกอบด้วย 19 คน ดังนี้ นายสมชาติ เจริญวัชรวิทย์ นายกสมาคม , พันเอก บุญส่ง เกิดมณี อุปนายกฝ่ายเทคนิค , จ่าสิบตรี ทรงพล พงษ์สว่าง อุปนายก ฝ่ายพัฒนากีฬามวยอาชีพ , นายไพโรจน์ ทุ่งทอง อุปนายก ฝ่ายสิทธิประโยชน์ , นายสมจิตร์ แว่นแก้ว
ประธานฝ่ายบริหารจัดการ , นายสมหมาย สกุลเมตตา ประธานฝ่ายจัดการแข่งขัน , นายธนกร ไชยศรี
เลขาธิการ , นายภพธร รุ่งสมัย รองเลขาธิการและฝ่ายประชาสัมพันธ์
, น.ส.สุดาทิพย์ ยิ้มสุทธิ์ รองเลขาธิการและนายทะเบียน , น.ส.สุวิมล จงประสิทธิ์ เหรัญญิก
, นายฐากูร ผ่องสุภา ฝ่ายต่างประเทศ
, นายพีรพงศ์ ธีระเดชพงศ์ ปฏิคม
, นายสุกฤษฎิ์ แพรกรีทาเวศน์ ฝ่ายกฎหมาย , นายพิเชษฐ เรือนอินทร์
ประชาสัมพันธ์ , นายพงษ์พิชัย
เหมวันต์ ฝ่ายจัดการแข่งขัน , นายกรธนพล วิลัยเลิศ ฝ่ายจัดการแข่งขัน , นายธัชนนท์ คชชาสุวรรณ ฝ้ายสิทธิประโยชน์ , นายวิชาญ จันทรวิสูตร ฝ้ายสิทธิประโยชน์ , นายนริส
สิงหวังชา ฝ่ายสิทธิประโยชน์